วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติและความสำคัญของก๋วย

ประวัติของงานจักสาน

นับพันปีมาแล้ว ที่มนุษย์ได้รู้จักวิธีการนำวัตถุดิบที่อยู่ใกล้ตัว   มาดัดแปลงเป็นสิ่งของเครื่องใช้ จากขั้นตอนที่ง่ายจนวิวัฒนาการสู่ความละเอียดอ่อน ประณีตงดงามในเชิงศิลปะและประโยชน์ใช้สอย จนสนองความต้องการได้เป็นอย่างดี เครื่องจักสานนั้นยังเป็น เครื่องมือที่มนุษย์สามารถจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ไม่เพียงแต่ด้านประโยชน์ใช้สอยเท่านั้นที่มนุษย์พัฒนาขึ้น ความสวยงาม และ ความทนทานถาวร ก็เป็นปัจจัยที่มนุษย์ให้ความสำคัญ วัตถุดิบที่ใช้ในการทำเครื่องจักสาน  เช่น จำพวกไม้ไผ่ที่หาได้ง่ายจากในป่า  ปลูกเองตามบริเวณบ้าน  นำมาจักสาน และได้มีการสืบทอดมาจนปัจจุบัน กรรมวิธีดังกล่าว ช่วยให้มนุษย์ได้ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เราเรียกสิ่งประดิษฐ์นั้นว่า หัตถกรรมอันหมายถึง การสร้างสิ่งของเครื่องใช้ด้วยมือ เครื่องมือ ภูมิปัญญา เพื่อให้ได้มาซึ่งเป็นประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และถ้าสิ่งประดิษฐ์นั้นมีค่ามากกว่าการใช้สอย โดยรวมความงามแล้ว จะเน้นให้เห็นถึงการสร้างสรรค์ ประณีตงดงามเป็นความละเอียดอ่อนในทางศิลปะ เรามักเรียกสิ่งประดิษฐ์นั้นว่า หัตถกรรมศิลป์(วิบูลย์  ลิ้สุวรรณ, 2563,199)
ภูมิประเทศเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ล้วนแต่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพันธุ์นานาชนิดสามารถนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างวัสดุที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ดีคือ ไม้ไผ่ ที่นำมาทำเครื่องใช้ในครัวเรือนได้เกือบทุกชนิด เช่นกระด้ง กระเชอ กระชอน ก๋วย  สานเป็นเครื่องดักจับสัตว์น้ำเช่น ไซ ข้อง ฯลฯ และสานเป็นฝาเรือน ฝาบ้าน เป็นต้น (ทวี  กองศรีมา  และคนอื่นๆ,  ม.ป.ป.,8)

ประวัติของหมู่บ้าน

            ชาวม้งบ้านแม่โถมีถิ่นฐานเดิมอพยพจาก จังหวัดลำพูน หรือเรียกกันว่า (หล่ามง) และอีกส่วนหนึ่งย้ายมาจาก อำเภอแม่แจ่ สาเหตุที่ต้องอพยพ ย้ายมาอยู่บ้านแม่โถ เพราะว่าชาวม้งสมัยแต่ก่อนมีอาชีพปลูกผัก ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เลยต้องการดินใหม่ๆ และต้องปลูกในพื้นที่ดอยสูงที่มีอากาศเย็น เหตุนี้จึงทำให้มีกาอพยพย้ายถิ่นฐานมายังพื้นที่สูง และยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่เป็นอันดับแรกของหมู่บ้าน   

        ชาวม้งได้อพยพมากในปี พ.ศ. 2500 ฉะนั้นชาวม้งบ้านแม่โถได้มาอาศัยอยู่ที่บ้านแม่โถเป็นระยะเวลาประมาณ 55 ปี  ชื่อเดิมหมู่บ้านในสมัยก่อนมีชื่อว่า มีดถุ แต่มีคนจากประเทศอังกฤษได้มาถ่ายทำสารคดีม้ง เลยได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น บ้านแม่โถ โดยปัจจุบันในหมู่บ้านจะมีหลังคาบ้านประมาณ 500 หลังคา โดยในหมู่บ้านจะแบ่งแยกย่อยหมู่บ้านออกเป็นหลายหมู่บ้านด้วยกัน เพราะหมู่บ้านมีขนาดใหญ่พอสมควร จึงแบ่งออกเป็น 5 หมู่บ้านย่อยด้วยกัน คือ บ้านเล่าลี, บ้านบ่อเหล็ก, บ้านใหม่, หน้าโรงเรียน และบ้านบน ชื่อหมู่บ้านทุกหมู่บ้านล้วนมีที่มาของชื่อหมู่บ้าน  

ชีวิตความเป็นอยู่ส่วนใหญ่ของคนในหมู่บ้านจะอยู่กันเป็นแบบ  เครือญาต ม้งบ้านแม่โถจะนับถือลัทธิความเชื่อ หรือผีปู่ ผีย่า ชาวม้งหมู่บ้านแม่โถได้มีการแบ่งตระกูลออกเป็น 4 ตระกูล ตระกูลที่ใหญ่ที่สุดคือ เลาหาง รองลงมาคือ แซ่มัว,  แซ่จาง และน้อยที่สุดคือ แซ่ย่าง สาเหตุที่มีการแบ่งแยก เป็นแซ่ หรือ ตระกูล ก็เพราะว่าถ้าหากเป็นคนแซ่เดียวกันก็จะแต่งงานด้วยกันไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่คนละหมู่บ้านก็ตาม แต่ถ้ามีแซ่เดียวกันก็ไม่สามารถแต่งงานด้วยกันได้ต้องแต่งกับคนต่างแซ่ หรือต่างตระกูลเท่านั้น ถ้าแต่งกับแซ่เดียวกันนั้นจะเปรียบเสมือนว่าพี่แต่งกับน้อง ซึ่งจะถือว่าเป็นการผิดผี หรือผิดจารีกประเพณีนั่นเอง (หง้าหลื่อ  ยืนยงคีรีมาศ , 2555  กันยายน 1)

ความสำคัญของก๋วย

ม้งหมู่บ้านแม่โถส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ  การเกษตร ทำไร่  ทำนา ทำสวน ดังนั้นจึงมีการคิดค้นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ภาชนะบรรจุพืชผลทางการเกษตร จึงมีการสานก๋วยขึ้นมา ที่มีหลากหลายแบบ  ก๋วยที่ใช้นั้นจะมีความคงทนใช้งานได้นานเป็นหลายปีก็ว่าได้ ก๋วยที่ทำมาจากต้นไผ่ที่หาได้ง่ายๆ ตามท้องถิ่น อายุต้นไผ่ที่สามารถนำมาสานก๋วยนั้นต้องมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปเพราะถ้านำไผ่ที่มีอายุ ต่ำกว่านี้มาใช้สาน อายุการใช้งานของก๋วยจะใช้ได้ไม่นาน และเวลาสานไม้ไผ่จะแตกง่าย งอกดัดยาก ก๋วยจากไม้ไผ่นี้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวเขาเผ่าม้ง  มีมาตั้งแต่คนในสมัยโบราณ ที่มีลักษณะเฉพาะ รูปทรงไม่เหมือนก๋วยทั่วไป ที่พบเห็น ลักษณะแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้นาน แต่คนในชุมชนไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการทำมาใช้เอง ก๋วย มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน  เพราะต้องใช้ ก๋วยในการบรรจุข้าวของเครื่องใช้เวลาที่ไป ทำไร่ ทำสวน เพื่อกันพวกสุนัขและอีกาที่มาคาบข้าวของ และยังใช้ก๋วยในการเรียกขวัญที่สวนหรือที่ไร่ที่ได้มีการเพาะปลูก ในเวลาที่ใกล้มีงานประเพณีปีใหม่ม้ง ก๋วยเริ่มสูญหายไปจากชุมชน คนในชุมชนส่วนมากหันมาซื้อตะกร้าใช้เป็นภาชนะบรรจุผลผลิต ซึ่งอายุการใช้งานได้ไม่นาน และไม่คงทนเหมือนก๋วย (หง้าหลื่อ  ยืนยงคีรีมาศ , 2555  กันยายน 1)










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น